วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ใบความรู้ วิชา งานธุรกิจ (ง 30202)

ใบความรู้ วิชา งานธุรกิจ (ง 30202)
เรื่อง การบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจ
ประวัติการบัญชี

มีการพบหลักฐานว่า การบัญชีเกิดขึ้นมากว่า 4,000 ปีแล้ว สมัยนั้นได้มีการจัดทำบัญชีสินค้า บัญชีค่าแรง และค่าภาษีอากร ในเมโสโปเตเมีย ต่อมาก่อนคริสตศตวรรษที่ 14 พ่อค้าชาวอิตาเลี่ยนได้พัฒนาระบบบัญชีคู่ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เขาคิดขึ้นนั้นไม่ได้รวบรวมไว้จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1494 นาย FRA LUCA PACIOLI ชาวอิตาเลี่ยน ได้แต่งหนังสือชื่อเรียกสั้นๆ ว่า"Summa" เป็นตำราว่าด้วยการคำนวณเกี่ยวกับเลขคณิต พีชคณิตการแลกเปลี่ยนเงินตรารวมทั้งการบัญชี ซึ่งเขาได้รวบรวมกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหลักการบัญชีคู่ไว้อย่างสมบูรณ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งวิชาการบัญชี"
ต่อมาราวคริสตศตวรรษที่18 เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีการลงทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะมีการลงทุนร่วมกัน ทำให้เกิดความคิดที่จะบันทึกบัญชีกิจการแยกต่างหากจากเจ้าของเพื่อจะได้ทราบว่าใครลงทุนเท่าใด และมีสิทธิส่วนได้ ส่วนเสียในกิจการเท่าใด นอกจากนั้นยังมีการจัดทำงบการเงินเพื่อรายงานถึงผลการดำเนินงานและฐานะของธุรกิจให้ผู้ร่วมลงทุนได้ทราบ ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

ประวัติการบัญชีในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยการบัญชีเริ่มต้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอันนำไปสู่การออกประมวลรัชฎากรจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2482 โดยผู้ที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านการบัญชีในระยะแรก ได้แก่ พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) และหลวงดำริอิศรานุวรรต (ม.ล.ดำริ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ได้จัดทำเป็นหลักสูตรการสอนวิชาการบัญชีเพื่อเผยแพร่ ทำให้คนไทยมีความรู้ทางด้านการบัญชีซึ่งท่านทั้งสองจบการศึกษาทางด้านการบัญชีจากประเทศอังกฤษ และกลับมารับราชการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาท ในการพัฒนาการบัญชี ช่วยให้งานบัญชีจัดทำได้เร็วขึ้นนอกจากนี้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ยังมีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลทางบัญชีได้สะดวกขึ้นด้วย


ความหมายของการบัญชี

การบัญชี (Accountancy หรือ Accounting ) เป็นศิลปะของการบันทึกรายการค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับ และ การจ่ายเงิน สิ่งของและสิทธิที่มีมูลค่าเป็นเงินไว้ในสมุดบัญชีอย่างสม่ำเสมอเป็นระเบียบถูกต้องตามหลักการและสามารถแสดงผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของกิจการ ในขณะเวลาหนึ่ง ๆได้

ประโยชน์ของการบัญชี

1. เก็บรวบรวม บันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้น จำแนกประเภทของรายการค้าไว้อย่างถูกต้องเป็นระเบียบและถูกหลักการ
2. เพื่อจดบันทึกรายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการบัญชี

นิยามศัพท์ทางการบัญชี

สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ (ทุน)

สินทรัพย์ (Assets)
ตามคำนิยามหมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต แบ่งได้เป็น

1. สินทรัพย์ที่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้ และมีรูปธรรม ซึ่งกิจการถือไว้ใช้ในการจำหน่ายเป็นสินค้า ผลิตสินค้า หรือบริการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการบริหารงาน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้ เครื่องใช้สำนักงาน รถยนต์ ฯลฯ
2. สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่ไม่สามารถระบุได้ และไม่มีรูปธรรม ซึ่งกิจการถือไว้เพื่อใช้ในการผลิต จำหน่ายเป็นสินค้า หรือให้บริการเพื่อให้ผู้อื่นเช่าหรือ เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารงาน เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทานบัตรหรือค่าความนิยม ฯลฯ



หนี้สิน (Liabilities)
ตามคำนิยามหมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการภาระผูกพันดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีตซึ่งการชำระภาระผูกพันนั้นคาดว่าจะส่งผลให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ดังนั้นหนี้สินหมายถึงภาระผูกพันของกิจการอันเกิดจากการค้า การกู้ยืมหรือเกิดจากการอื่นๆ ซึ่งทำให้กิจการต้องชำระคืนโดยการส่งมอบสินทรัพย์หรือให้บริการในอนาคตเช่น เจ้าหนี้การค้า ซึ่งเกิดจาก การที่กิจการซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อหรือค่าใช้จ่าย ค้างจ่ายซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างงวดบัญชีแต่ยังมิได้จ่ายเงิน เป็นต้น

ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equity)
ตามคำนิยามหมายถึง ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการหลังจากหักหนี้สินทั้งสิ้นออกแล้ว

สมการบัญชี Accounting identity
ยอดรวมของสินทรัพย์ จะเท่ากับยอดรวมของหนี้สินและส่วนของเจ้าของเสมอ ไม่ว่ากิจการจะมีรายการค้าเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใดก็ตาม เมื่อพิจารณาทางด้านสินทรัพย์จะเป็นการแสดงถึงสิ่งที่กิจการเป็นเจ้าของส่วนทางด้านหนี้สินและส่วนของเจ้าของจะเป็นการแสดงถึงแหล่งที่มาเงินลงทุนของกิจการว่ามาจากเจ้าหนี้ และเจ้าของกิจการเป็นจำนวนเท่าใดในแต่ละกลุ่ม ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้รวมกับสิทธิเรียกร้องของส่วนของเจ้าของ จึงเท่ากับสินทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ ซึ่งแสดงออกมาเป็น

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

Asset = Liabities + ower’s Equities

A = L + OE

งบการเงิน (Financial Statement )
ในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้น กิจการจะต้องจัดทำงบการเงินเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของกิจการ เรียกว่า งบกำไรขาดทุน (Income Statement) และรายงานสถานะทางการเงินของกิจการ เรียกว่า งบดุล (Balance Sheet) รอบระยะเวลาบัญชี หรือปีบัญชี จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม
งบดุล (Balance Sheet)
หมายถึง รายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงฐานะการเงินของกิจการค้าและบุคคลธรรมดา ณ วันใดวันหนึ่ง ว่า สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ(ทุน) เป็นจำนวนเงินเท่าใด การจัดทำงบดุลทำได้ 2 แบบ คือ
1. แบบบัญชี (Account Form)
จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ไว้ด้านซ้าย ส่วนหนี้สินและส่วนของเจ้าของจัดแสดงแยกไว้ทางด้านขวาตามตัวอย่าง

ร้านสามดาว
งบดุล
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25xx



2. แบบรายงาน (Report Form)
จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ อยู่ส่วนบน และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินและส่วนของเจ้าของไว้ส่วนล่างของรายงานตามลำดับ ตามตัวอย่าง

ร้านสามดาว
งบดุล
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25xx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Search for content in this blog.