ความแตกต่างระหว่าง เกย์ กะเทย ประเทือง
โดย นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล
คนไทยกำลังสับสนเป็นอย่างมาก ระหว่างเกย์ กะเทย ประเทือง ว่ามันเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร… จริงๆแล้ว กะเทยคืออะไร?
กะเทย เป็นคำที่มีมาแต่ดั้งแต่เดิม ใช้มานมนาน เป็นคำที่เรียกกลุ่มคนผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. ผู้มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงในร่างเดียวกัน (Hermaphrodite)
2. ชายหรือหญิงที่แปลงเพศ (Transexualism)
3. ชายหรือหญิงที่นิยมแต่งกายในชุดของเพศตรงข้าม (Transvestism)
4. ชายหรือหญิงผู้มีใจรักใคร่เพศเดียวกัน (Homosexuality) ส่วนใหญ่หมายถึงชายรักชาย และอาจหมายถึงหญิงรักหญิงด้วยกัน
แต่ที่มักไม่ค่อยพูดถึงกันนัก กะเทยมีกี่ประเภท โดยการจำแนกทางการแพทย์แล้ว กะเทยแบ่งเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะทางกายภาพ นิสัย รสนิยม พฤติกรรม แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร ตามไปดู…
1. กะเทยแท้ (Hermaphrodite)
คือคนสองเพศในร่างเดียวกัน (Two in one) เป็นความผิดปกติของธรรมชาติทางร่างกาย มีผลทำให้จิตใจสับสนว่าเราเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่
2. กะเทยผิดเพศหรือแปลงเพศ (Transsexualism)
คือคนที่ไม่พอใจและไม่ยอมรับเพศที่แท้จริงของตัวเองโดยกำเนิด มีพฤติกรรมแสดงออกแบบเพศตรงข้ามตลอดเวลา รู้สึกว่าตัวเองเกิดผิดเพศ และมักอยากแปลงเพศให้เป็นตรงกันข้ามกับต้นฉบับเดิมที่แม่ให้มา อาจแปลงด้วยวิธีการกินยาฮอร์โมน หรือศัลยกรรมผ่าตัดซะเลย
ส่วนใหญ่ที่เจอะเจอมักเป็นชาย กายเป็นชายใจเป็นหญิง จะรู้สึกว่าแท้ที่จริงเธอเป็นผู้หญิง 100% มีแต่ร่างกายหรือเครื่องเพศเท่านั้นที่เป็นผู้ชาย ที่น่าสนใจก็คือเธอหลายคนสวยเด่นเหลือหลาย สะโพกผาย อกโต หุ่นเพรียวลมงดงาม ทำเอาผู้หญิงแท้มากมายรู้สึกขายหน้ายิ่งนัก ถ้ามีการประกวดประชันกันระหว่างนางสาวไทยกับมิสทิฟฟานีบนเวทีเดียวกัน ยังนึกภาพไม่ออกว่าผลจะเป็นอย่างไร ผมชักอยากถือหางกลุ่มประเภทหลังซะแล้ว ดูแล้วน่าจะเป็นต่อเล็กน้อย มีการตั้งชื่อเรียกคนกลุ่มนี้ตามสภาพความจริงว่า “สาวประเภทสอง สาวดาวเทียม” หรือถ้าสวยหยาดเยิ้มบาดตาบาดใจก็เรียกเธอว่า “นางฟ้าจำแลง”
3. กะเทยลักเพศ (Transvestitism)
แปลตามชื่อเลยครับ คือไปลักเอาเพศอื่นมา บางคนแก้ตัวว่า ไม่ได้ลักสักหน่อย แค่ “ขอยืม” มาใช้ชั่วคราวเท่านั้นเอง กลุ่มนี้ชอบแต่งกายเป็นเพศตรงข้าม แต่งหน้า ทำผม เท่านี้ก็พอใจแล้ว อาจทำโดยเปิดเผยหรือเฉพาะลับตาคนก็ได้ กลุ่มนี้ไม่ต้องการแปลงเพศเหมือนกลุ่มแรก กลุ่มนี้อาจเป็นได้ทั้งรักใคร่เพศตรงข้าม หรือเป็นโฮโมหันมาชอบไม้ป่าเดียวกัน
4. รักร่วมเพศ (Homosexuality)
ชื่อนี้ดูแปลกๆ ทำให้เข้าใจตามภาษาได้ว่า “ความรักที่มุ่งมั่นจะร่วมเพศกัน” ทำให้บางคนไม่ชอบคำแปลนี้ จริงๆแล้ว รักร่วมเพศหมายถึง ผู้ที่ต้องการมีความสุขกับเพศเดียวกัน อันได้แก่ ชายรักชาย และหญิงรักหญิง ทั้งสองฝ่ายอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน คือ
ชายรักชาย มีชื่อเล่นเยอะ เช่น ไม้ป่าเดียวกัน ชาวดอกไม้ ชาวสีม่วง แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า เกย์ (Gay) แบ่งเป็น เกย์คิง กับเกย์ควีน
- เกย์คิง (Gay-king) คือผู้ที่ชอบ “แทงข้างหลัง” หรือเรียกว่า “ผู้เป็นแขก”
- เกย์ควีน (Gay-queen) คือผู้ที่ชอบ “หันหลังให้เขาแทง” หรือเรียกว่าเป็น “แผนกต้อนรับ”
- แต่ถ้าเป็นได้ทั้งแขกและแผนกต้อนรับ ทำหน้าที่ทั้งสองบทบาทในเวลาเดียวกัน อย่างนี้เรียกเป็นเกย์ควิง (ผสมระหว่าง king กับ queen)
หญิงรักหญิง คนไทยเรียกกันมาแต่ดั้งแต่เดิมว่า “อัญจารี” มาจากคำว่า อัญ บวกกับ จารีต มีความหมายตรงตัวว่าผู้ประพฤติที่แตกต่าง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า เลสเบี้ยน (Lesbian) แบ่งพฤติกรรมออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
- ทอม มาจากภาษาอังกฤษว่า Tom boy ผู้หญิงบางคนเรียก “ทอมมี่” เป็นฝ่ายที่ทำตัวเสมือนชาย เข้มแข็ง บึกบึน เป็นผู้นำ รับผิดชอบ ดูแล เทคแคร์ เอาอกเอาใจ
- ดี้ มาจากภาษาอังกฤษว่า Lady เป็นฝ่ายทำตัวเป็นผู้หญิ๊ง-ผู้หญิง บอบบาง ไร้เดียงสา ออเซาะ ฉอเลาะ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยถนัด
คราวนี้มาพิจารณาคำที่เจอบ่อยๆ
ประเทือง พอมาถึงตรงนี้ ลองช่วยกันคิดหน่อยนะครับว่า “คุณประเทือง” ของไท ธนาวุฒิ น่าจะจัดอยู่ในกะเทยประเภทไหน ถ้าเพื่อนเก่าเราที่เคยเป็นชาย แล้วต่อมากลายหญิงสาวสวย จนเกือบหลวมตัวจีบ
เกย์ เกย์ ที่กล่าวมาแล้วหมายถึงผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน แต่เขายังกำหนดเพศตนเองเป็นผู้ชาย 100% เต็ม ดังนั้นจำนวนมากดูภายนอกเป็นชายเต็มตัว ดูไม่ออกไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นเกย์ บางคนมีลูกมีเมีย มีครอบครัว อาจมีไว้บังหน้าหรือเพราะสังคมบังคับ หลังแต่งงานแล้วภรรยาอาจลำบากใจ เศร้าหมอง หรือช็อกเมื่อวันหนึ่งทราบความจริงว่า “สามีของเธอ ตกเป็นภรรยาของชายอื่น”
อยากทำความเข้าใจก่อนตรงนี้ว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าเขาไม่ใช่เกย์ ในทางตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน ผู้ชายที่ไม่แต่งงานก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเกย์ จะเห็นว่าความเป็นเกย์อยู่ที่ในใจ เป็นความรู้สึกส่วนตัว หลายคนถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไร ผมก็เลยถามกลับว่าแล้วจะรู้ไปทำไม…มันเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับชีวิตของเขา ยกเว้นแต่เขามาขอแต่งงานกับคุณ แล้วคุณสงสัย ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว
จิตแพทย์ยกเลิกการวินิจฉัยว่า Homosexuality เป็นความผิดปกติ โดยให้ถือว่าเป็นวิถีทางเลือกอย่างหนึ่งของชีวิต เป็นรสนิยมที่แตกต่างจากคนทั่วไป เป็นคนกลุ่มน้อยเหมือนคนที่ถนัดมือซ้ายในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถนัดมือขวากัน
ตุ๊ด คือเกย์ส่วนหนึ่ง มีท่าทางกระตุ้งกระติ้ง กระเดียดไปทางผู้หญิง คนทั่วไปมักเรียกว่าตุ๊ด บางคนเข้าใจว่า ตุ๊ดมาจากภาพยนตร์เรื่อง Tootsie ที่ดัสติน ฮอฟแมนผู้เป็นพระเอกปลอมตัวเป็นผู้หญิง ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าตุ๊ดมีใช้ในเมืองไทยตั้งแต่ยังไม่มีหนังเรื่องนี้เลย ทฤษฎีนี้เลยตกไป
บางคนบอกว่ามาจากคำว่า “ตูด” เพราะเข้าใจว่ามีความสนิทสนมและใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนนี้มากกว่าคนทั่วไป หลายคนบอกว่ามาจากอาการกระตุ๊งกระติ๊งเกินปกติ คนจึงเรียกเธอว่า “ตุ๊ดตู่” และ “แต๋วแหวว” เลยเรียกรวมกันเป็น ตุ๊ดกับแต๋ว ในเวลาต่อมา ส่วนว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร คงต้องไปสอบถามผู้รู้ทางภาษาดูนะครับ
คราวนี้มารู้จักคำที่พูดกันน้อย
รักสองเพศ (Bisexuality)
หมายถึงคนที่มีความสุขทางเพศได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง มีคำเล่นใช้หลากหลายเช่น เสือใบ ใบไม้ หรือพวกกระแสสลับ
รักต่างเพศ (Heterosexuality) ได้แก่ชายจริงหญิงแท้ ผู้มีจิตใจรักใคร่เพศตรงข้ามเหมือนกับเราท่านทั้งหลายนี่แหละ และนับเป็นความโชคดีของคนกลุ่มนี้ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด สิ่งที่พวกเขากระทำจึงถือเป็นความปกติ ในวันหนึ่งข้างหน้าถ้าคนนิยมเพศตรงข้ามน้อยลง พฤติกรรมเยี่ยงนี้จะกลับไปเป็นความผิดปกติหรือเปล่า…น่าคิด!
ในความเป็นจริง ในการประเมินระดับความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น ถ้าเห็นลูกชายของเราชักเริ่มแสดงอาการกระตุ้งกระติ้ง เพราะดูแบบอย่างจากทีวี หรือเลียนแบบจากเพื่อนที่โรงเรียนเป็นแฟชั่น ทั้งๆ ที่คุณพ่อก็เข้มแข็ง บึกบึน ต้องเอะใจว่าเป็น “สัญญาณเตือน” ที่บ่งบอกสถานการณ์ว่าเรากำลังโดนทีวีและเพื่อนๆ ของลูกยึดอำนาจไปเสียแล้วหรือ จึงควรหันมาใกล้ชิดเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกๆ ของเรา และควรใช้เวลากับลูกตอนดูทีวีเพื่อให้คำอธิบายที่เหมาะสม
ทัศนคติของสังคม
โดยทั่วไปสังคมไทยถือว่าไม่ต่อต้านกะเทยและเกย์ (Non-Homophobic Male Sexual Culture) แต่ก็ไม่ได้นิยมส่งเสริม เพียงแต่ส่วนใหญ่มองด้วยความเข้าใจ พยายามเข้าใจ และมีเมตตา ผิดกับบางประเทศที่ต่อต้านชัดเจน ถึงกับถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย
คนบางคนบางพวก อาจตั้งข้อรังเกียจ เพราะเมื่อนึกถึงอาหารประจำเผ่าของพวกเธอ คือ “ถั่วดำ” แล้วทำใจไม่ได้ ไม่แน่ใจในความสะอาดทั้งรูป รส และกลิ่น บางคนวิตกกังวลและหวาดกลัว เพราะมักได้เห็นข่าวเสมอๆ ว่า กะเทยเป็นพวกก้าวร้าวรุนแรง ฆ่ากันตายเพราะความหึงหวงและชิงทรัพย์เป็นประจำ ทั้งๆ ที่หลายคู่เขาอยู่กินอย่างมีความสุข แต่ไม่เป็นข่าว
ธรรมชาติของกะเทยคือรักเพศเดียวกัน หรือมีการแสดงออกเหมือนเพศตรงข้าม นั่นคือสิ่งเดียวที่พวกเธอแตกต่างจากคนทั่วไป
การตัดสินใดๆ มักเกิดจากเจตคติซึ่งได้รับการหล่อหลอมจากวัฒนธรรม ประเพณีที่ถือเป็นมาตรฐาน เปรียบเทียบเหมือนทุเรียนมีธรรมชาติเป็นสีเหลือง เนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นแรง คนบางคนชอบกิน บางคนเฉยๆ และสมมติถ้าเกิดผมทนกลิ่นทุเรียนไม่ไหว กินไม่ลง ความผิดไม่ได้อยู่ที่ทุเรียน ปัญหาอยู่ที่ตัวผมแล้ว สิ่งที่ผมต้องทำคือหลีกเลี่ยง อยู่ห่างๆ แทนที่จะต้องต่อต้านทุเรียน
ทำไมจึงเป็นกะเทย
ยังไม่มีใครสามารถหาข้อสรุป หรืออธิบายได้ถูกต้องชัดเจน ในเรื่องนี้ ต่างฝ่ายต่างวิเคราะห์ถึงสาเหตุในฐานที่มาที่ต่างกันคือ
นักวิเคราะห์ทางจิตสังคม บอกว่า เด็กชายที่เติบโตโดยห่างเหินพ่อ หรือใกล้ชิดทางจิตใจกับมารดาอย่างมาก ทำให้เด็กชายสวมบทบาทของหญิงแทนที่จะเป็นชาย จึงกลายเป็น “ว่าที่กะเทย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
นักวิจัยทางกายภาพ พบว่า กะเทยกลุ่มชายรักชายมีฮอร์โมนเพศชายน้อยกว่าชายทั่วไป ฝาแฝดไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเป็นกะเทยเหมือนกันมากกว่าคนทั่วไป
จากข้อมูลดังกล่าวจึงเชื่อกันว่า กะเทยเกิดจากหลายสาเหตุผสมผสานกันอย่างลงตัว ตั้งแต่พันธุกรรม สมอง การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม
คนกลุ่มนี้ผิดปกติต้องพบจิตแพทย์หรือเปล่า
ถ้าคุณเธอทั้งหลายพึงพอใจ และมีความสุขต่อสิ่งที่เธอมี ที่เธอเป็น ก็นับเป็นความชอบธรรมที่เธอจะใช้สิทธิ์ในการเลือกรสนิยมของเธอเอง ไม่มีอะไรน่าห่วง ดูที่สุขภาพจิต ความสุข-ความทุกข์ในจิตใจเป็นสำคัญ
แต่บางกลุ่มบางคน ไม่พอใจในสิ่งที่เธอมี เธอเป็น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการดูแลแก้ไข ให้ตรงกับสิ่งที่เธอปรารถนาอย่างแท้จริง อย่างเปลี่ยนทัศนคติแนวคิดก็พบจิตแพทย์ อยากเปลี่ยนสรีระร่างกายให้ได้ดั่งใจประสงค์ก็พบศัลยแพทย์ หลังจากได้รับการยืนยันจากจิตแพทย์แล้วว่าจะไม่มีปัญหาหลังการแปลงเพศ
โดยมากที่เราพบ คนกลุ่มนี้มีรสนิยมและพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ถ้ารสนิยมไม่ได้ทำให้เจ้าตัวมีปัญหา ก็ไม่ต้องไปพบหมอ ถ้ามีใครพยายามบอกว่าเธอป่วยหรือชักจูงให้ไปหาหมอ ต้องสงสัยว่าปัญหาอยู่ที่ใคร
จริงๆแล้วปัจจุบันสังคมเรากำลังสับสนอย่างหนัก ไม่รู้ว่าใครป่วยใครไม่ป่วย
กะเทยถ้าแสดงบทบาทที่เหมาะสม พอดิบพอดี สังคมก็ให้โอกาส แต่การแสดงที่เว่อเกินงามจนน่าเกลียด ทำให้ภาพพจน์ของกะเทยตกต่ำเสียหาย
ที่มา สนุก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น