วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิธีจัดการกับความทุกข์

พอเห็นชื่อเรื่องว่า วิธีจัดการทุกข์ ต้องขอบอกล่วงหน้าว่า เราไม่สามารถไปจัดการทุกข์ได้แม้แต่น้อย ผมตั้งชื่อให้ดูง่ายๆเท่านั้น จำเป็นต้องบอกไว้สำหรับคนที่คิดว่าเข้ามาอ่านแล้วผมจะมีวิธีเป็นขั้นตอนเพื่อทำให้หายทุกข์ ผมไม่มีวิธีขั้นตอนในการกำจัดทุกข์หรอกครับ แต่ผมมีมุมมองต่อความทุกข์ที่ได้ยินจากครูบาอาจารย์มาเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง เป็นมุมมองที่หากได้ลองนำไปใช้ จะสามารถช่วยให้เราไม่ทุกข์ (อ่านดีๆนะครับ ไม่ทุกข์ของผมหมายความว่า ทุกข์ยังมีอยู่ แต่ไม่มีใครไปทุกข์หรือไปแบกทุกข์ไว้นั่นเอง)

พอพูดถึงความทุกข์ หลายๆคนล้วนแต่อยากที่จะไม่ทุกข์ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีจัดการความทุกข์ไปตามที่ตัวเองคิดว่าดี บางคนเวลาทุกข์ก็จะหันไปหาความสุข เช่น ออกไปเที่ยวเล่นให้สบายใจ ไปดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง ออกกำลังกาย ไปพักร้อนชายทะเล หรือขึ้นเขาไปหาความสงบจากธรรมชาติ ถ้าเราสังเกตดีๆ เราก็จะพบว่า ทุกข์ของเขายังมีอยู่ เขาเพียงแต่หันเหความสนใจของตัวเองไปกับความสุขเพื่อให้จิตใจสบายขึ้น เขาก็ยังต้องเผชิญกับความทุกข์ต่อไปเมื่อความสุขที่เขาเติมเข้ามานั้นหมดไป แต่เขาก็อาจจะหลุดจากการจมอยู่กับความทุกข์ มาคิดหาวิธีแก้ทุกข์ได้ดีกว่าเดิม อันนี้ก็เป็นวิธีการที่คนปกติทั่วไปเขาทำกัน แต่ก็มีบ้างพวกที่พอมีทุกข์แล้วจะหนีทุกข์ แต่ดันหนีแบบโง่ๆด้วยการ กินเหล้าเมายา หรือหันไปหาอบายมุข สุดท้ายแล้วกลับเป็นการเพิ่มทุกข์ไปมากกว่าเดิม เช่น หนี้สินจากการพนัน หรือว่าเมาสุราแล้วเกิดอุบัติเหตุ วิธีแบบนี้ผมเชื่อว่าพวกเราคงไม่ทำกันแน่ๆ

บางพวกพอทุกข์ก็หันหน้าเข้าวัด พวกหนึ่งก็เข้าไปกราบพระที่เขาว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ก็ไปกราบเทพเจ้าต่างๆเพื่อขอให้ตัวเองพ้นทุกข์ อาจจะติดสินบนด้วยของไหว้อีกมากมาย ที่ได้กลับไปก็คือความสบายใจว่า หลวงพ่อ เจ้าพ่อ หรือเทพเจ้าคงช่วยเราแน่ หากสามวันเจ็ดวันไม่เห็นผลก็กลับไปทุกข์เหมือนเดิม อีกพวกก็ไปวัดปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ซึ่งจะพบกับสุข เย็นสบายตลอดช่วงเวลานั้น แต่พอออกจากการปฏิบัติธรรมกลับบ้านก็เจอกับทุกข์เหมือนเดิม บางคนใจนิ่งขึ้น ก็แก้ปัญหาไปได้ บางคนจากที่เย็นๆแล้วมาเจออะไรร้อนๆ กลับเกรี้ยวกราดหนักกว่าเดิมก็มี

จะเห็นได้ว่าวิธีทางของแต่ละคนที่ทำไปนั้น ล้วนแต่เป็นการหลีกหนีทุกข์ชั่วครั้งชั่วคราวทั้งนั้น ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นชาวพุทธผู้ศึกษาธรรมะจากพระพุทธองค์ ลองดูง่ายๆว่า ต่อให้คนที่มีสติปัญญาดีแค่ไหน เก่งเพียงใด หากไม่เคยฟังธรรมนั้น อย่างมากก็ทำได้แค่เพียงหลีกหนีหรือบำบัดทุกข์เท่านั้น มีแต่ชาวพุทธที่ได้ฟังธรรมเท่านั้นที่รู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงกล้าหาญเพียงใด ท่านไม่ทุกข์ จากการที่ท่านเผชิญกับความทุกข์ ทำให้รู้ทุกข์จนแจ่มแจ้ง และไม่ทุกข์ในที่สุด ตรงนี้สำคัญนะครับ หลายคนเข้าใจว่าพระพุทธองค์สอนให้ละทุกข์ แต่จริงๆแล้วพระพุทธองค์ ไม่ได้สอนให้ละทุกข์ ท่านสอนให้รู้ทุกข์ ละเหตุให้เกิดทุกข์ต่างหาก

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องรู้ทุกข์ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราต้องรู้ก่อนว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์ส่งผลอย่างไร ต้องรู้จักทุกข์ก่อน เราจึงจะละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เปรียบง่ายๆว่า ผู้ใหญ่สอนเด็กว่ากาน้ำร้อนอันตรายนะ สอนยังไงเด็กก็แค่รับทราบ แต่อาจจะไม่กลัว อาจจะอยากลอง เด็กคนนั้นจะรู้ว่ากาน้ำร้อนนั้นน่ากลัว ไม่ควรไปแตะต้อง ก็ต่อเมื่อเค้าเคยสัมผัสกาน้ำร้อนว่า ร้อนเพียงใด ถึงตอนนั้นแม้ผู้ใหญ่จะไม่เตือน เขาก็ไม่อยากไปจับกาน้ำร้อนอยู่ดี ที่ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก็เพราะว่า หลายคนพยายามละตัวตน พยายามละทุกข์ พยายามละกาม ฯลฯ ซึ่งล้วนเกิดจากความคิดว่า ทุกข์ไม่ดี จึงควรละ ตัวตนไม่ดีจึงควรละ กามไม่ดีจึงควรละ แต่จิตตัวเองยังไม่เคยประจักษ์ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีอย่างไร มีโทษอย่างไร ละให้ตายอย่างไร พอเบื่อก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ไม่สามารถละได้จริงแม้แต่น้อย

ชาวพุทธที่แท้ก็ควรจะกล้าหาญอย่างพระพุทธองค์ผู้เป็นศาสดา เผชิญหน้ากับความทุกข์ รู้ความทุกข์ จนจิตใจมันรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง มันก็จะละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ด้วยตัวของมันเอง เราก็ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการรู้ เริ่มต้นจากรู้อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันก็ได้ อารมณ์อะไรก็ได้ที่เกิดขึ้น เราแค่ตามรู้ไปว่าเราดีใจ เสียใจ เบื่อ เหงา ชอบ ไม่ชอบ อึดอัด สงสัย งง อยาก ไม่อยาก เผลอคิด โกรธ หงุดหงิด ฯลฯ เรียกว่าการตามรู้ใจ หรือจะรู้ว่าแขนขยับ ขากระดิก นิ้วกระดก พยักหน้า ส่ายหัว อะไรก็ได้ที่เป็นการเคลื่อนไหว เรียกว่าการรู้กาย เพียงแค่ "มีสติรู้กาย ตามรู้ใจในปัจจุบัน ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง" ไม่ทำอะไรนอกจากการรู้ เช่น พอโกรธ ก็ไม่ต้องไปอยากให้หายโกรธ แต่ถ้ามันอยากไปหายก็ตามรู้ลงไปในปัจจุบันว่าอยากหายโกรธ รู้ซื่อๆที่ปัจจุบัน ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านี้ แต่สิ่งที่ควรจะมีก่อนก็คือ ศีล5 เพราะเวลาที่เราตามไปรู้อารมณ์ที่ไม่ดี เราจะได้ไม่ไปทำร้ายหรือดุด่าคนอื่น ศีล5 เป็นเหมือนรากฐานก่อนการสร้างบ้าน หากเราไม่มีศีลแล้วไปเจริญสติ ก็ไม่ต่างจากการพยายามสร้างบ้านบนโคลนเลนแม้แต่น้อย

สงสัยไหมครับว่ารู้แบบนี้แล้วได้อะไร การที่เรารู้กายตามรู้ใจนั้น พอเรารู้ไปมากเข้าเราจะเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า กายนั้นเป็นทุกข์เพราะอยู่ๆมันก็ปวด เดี๋ยวมันก็เสื่อม มันไม่สามารถคงอยู่ถาวรตลอดกาลแม้ว่าเราจะกินยาบำรุงดีขนาดไหน เราก็จะสังเกตเห็นว่าใจนั้นเป็นทุกข์ เราะเราบังคับมันไม่ได้เลย นั่งเฉยๆก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ มีอะไรมากระทบทีก็มีแสดงอารมณ์ต่างๆกระเพื่อมไปตามสิ่งที่มากระทบ อารมณ์ก็เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถไปประคองให้อารมณ์ที่ดีๆอยู่นานๆ หรือไล่ให้อารมณ์ที่ไม่ดีหายไปเร็วๆ เราทำอะไรกับมันไม่ได้เลย พอรู้ตามจริงก็จะเริ่มเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายก็จะคลายความยึดถืออะไรต่างๆออก แต่ต้องเกิดจากจิตมันเบื่อหน่ายของมันเองนะครับ เราอย่าไปคิดไปสอนว่าให้จิตเบื่อ ให้จิตได้ไปแตะกาน้ำร้อนด้วยตัวเอง จิตก็จะเกิดกระบวนการสะสมความรู้ความเข้าใจที่เขาไม่เคยพบเคยเห็นจนปัญญาของเขาแก่รอบ สามารถสลัดคืนความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆออกไปได้หมด ถ้าถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่า กิจที่ควรทำทำจบแล้วนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เริ่มต้นจากการรู้เท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่ารู้ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากการรู้ครับ จะรู้กาย รู้จิต รู้เวทนา รู้ธรรม รู้อะไรก็ได้ที่มีขอบเขตที่กายกับใจ มีปัจจุบันเป็นเวลารู้ และไม่ทำอะไรนอกเหนือจากการรู้ เพียงเท่านี้ทุกข์ที่หนักหนาแค่ไหนก็ตาม หากเรารู้ ในเบื้องต้นเราก็จะรู้สึกสุขขึ้นมาตรงนั้นเลย และยังสามารถสะสมความรู้นี้ไปใช้ในเบื้องปลายได้อีกด้วย เริ่มจากรู้จริงๆครับ

หมายเหตุ ทุกครั้งที่ผมเขียนเรื่องพวกนี้ ผมก็เขียนจากการตีความสิ่งทีได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์ การตีความของผมนั้นผิดเพี้ยนหรือบกพร่องได้เสมอ เรื่องธรรมะนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การเขียนผิดไปคำสองคำอาจจะทำให้คนอ่านเข้าใจผิดทางไปไกลก็ได้ หากมีโอกาส ก็อย่าลืมให้ครูบาอาจารย์ท่านช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

.
.
.
.
Life Insurance Knowledge:Life Insurance , private, death, employee pensions and annuities,life insurance, educational, life insurance companies

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Search for content in this blog.