ดังกล่าวแล้วว่า “วัฒนธรรมไทย” มีความหมายให้เป็นแบบอย่างการดำรงชีวิตที่กลุ่มคนหรือสังคมไทยกำหนดขึ้นและยึดถือร่วมกัน อันประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอย ระเบียบกฎเกณฑ์ แบบแผนวิธีการ ความคิด ความเชื่อ ความหมายและคุณค่าที่คนในกลุ่ม หรือสังคมไทยนั้น ร่วมรู้ร่วมรับและร่วมใช้ เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะแยกได้จากกลุ่มอื่นนั้น ถ้ากำหนดหมายกลุ่มหรือสังคมได้ ก็บรรยายลักษณะวัฒนธรรมของกลุ่มหรือสังคมนั้นได้
สังคมไทยในสมัยปัจจุบันย่อมแสดงแบบอย่างการดำรงชีวิตของคนไทยให้พิจารณาและบรรยายลักษณะได้ทุกด้าน ทุกเรื่อง ในทุส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสาร ปัจจัย ๔ ของชีวิต เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับอาชีพการงาน และอุปกรณ์การเล่น การบันเทิง กฎเกณฑ์และวิธีการในการผลิตและการบริโภค แบบแผนของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและเครือญาติ การคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงหรือการบริหารปกครอง กับความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และอุดมการณ์ในเรื่องที่กล่าวแล้ว และร่วมทั้งศาสนา ปรัชญาและศิลปะ ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบที่เป็นหลักของทุกวัฒนธรรม
๔.๑ ความหมายของการอนุรักษ์ และ เผยแพร่
การอนุรักษ์ หมายถึง การปกป้อง รักษาไว้ ทำนุบำรุงถนอมไว้ มิให้สูญหาย คอยดูแลเอาใจใส่มิให้ถูกทำลายและบูรณะซ่อมแซม
การเผยแพร่ หมายถึง การแนะนำ การกระจายข่าว การไม่หยุดอยู่กับที่ การให้รู้กันทั่วไป ซึ่งทำให้บุคคลอื่นได้รู้จัก ได้รู้คุณค่า ได้ตระหนักในสิ่งที่เป็นต้องการให้บุคคลได้รู้ได้ทราบ
เอกลักษณ์ หมายถึง สิ่งเฉพาะ จุดเด่น ๆ สิ่งที่ทำให้เชิดหน้าชูตา ตลอดถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน และเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทยได้ชัดเจน
การอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย จึงหมายถึง การปกป้องรักษา ดูแลเอาใจใส่วัฒนธรรมไทยที่มีอยู่มิให้สูญหาย และประชาสัมพันธ์แนะนำ กระจายข่าวให้บุคคลอื่นได้รับรู้รับทราบถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ตลอดถึงการทำนุบำรุง บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ได้ตราบนานเท่านาน เช่น
ก. วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การติดต่อกันอย่างสามัญโดยใช้การพูด การฟัง การเขียน เป็นการใช้ “วจีกรรม” หรือ speechacts คือใช้ภาษาเพื่อให้ผู้อื่นได้ทำตามที่ตนบอกหรือสั่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การพูดโทรศัพท์ การสนทนากับเพื่อนบ้าน การบอกช่างประปามาซ่อมรอยรั่ว กานัดช่างไฟฟ้าให้มาติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การสั่งอาหารตามภัตตาคาร การนัดหมายกับเพื่อน ๆ ฯลฯ ส่วนการฟัง เป็นพฤติกรรมควบคู่กับการพูด นอกจากนั้นยังมีการฟังจากสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ การฟังประกาศ ฯลฯ ทางด้านการอ่านในชีวิตประจำวันที่ใช้มากที่สุด คือการอ่าหนังสือพิมพ์ อ่านป้ายประกาศ ป้ายโฆษณา สลากยา จดหมาย หนังสือเวียนจากโรงเรียนของบุตรหลาน ฯลฯ การเขียนในชีวิตประจำวัน มักจะเป็นการเขียนข้อความสั้น ๆ ในบันทึกส่วนตัว บันทึกรายการซื้อของ บันทึกรายการธุระที่จะต้องกระทำ การเขียนจดหมาย การกรอกแบบฟอร์ม การอ่านสำรวจคุณสมบัติสิ้นค้าใหม่ ฯลฯ การสื่อสารในชีวิตประจำวันไม่มีความสลับซับซ้อน ทั้งด้านเนื้อหาสาระ และการใช้ถ้อยคำของภาษาก็ไม่ยุ่งยาก
ข. วัฒนธรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิบัติงาน ในที่นี่หมายถึง การสื่อสารเพื่อการทำกิจธุระส่วนตัว และกิจการต่างๆ ในการงานอาชีพ ซึ่งมีความจำเป็นขึ้นต้นคล้ายคลึงกัน ผู้ที่ทำงานอาชีพส่วนมากต้องการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน ถ้อยคำภาษาที่จะใช้ต้องมีพลังเร้าใจ หรือโน้มน้าวจิตได้ ต้องใช้คำประหยัดและมีความหมายชัดเจนแน่วแน่ ไม่กำกวม เช่น ต้องวารสั่งซื้อสินค้า ต้องบอกชนิดสินค้าชัดเจน รหัสประจำสินค้า สี ขนาด จำนวน สถานที่ส่งสินค้า วิธีส่ง วิธีชำระเงิน ฯลฯ
ค. วัฒนธรรม การสื่อสารเชิงวิชาการ การสื่อสารเชิงวิชาการมีความยุ่งยากในการใช้ถ้อยคำยิ่งกว่าภาษาเฉพาะอาชีพ เพราะนักวิชาการจำเป็นต้องใช้ศัพท์เฉพาะด้านในวิชาการของตน เพราะทำให้การติดต่อสื่อสารกระชับ รวดเร็ว แม่นยำ ตรงตามความหมายที่ต้องการ
ศัพท์วิชาการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นภาษาต่างประเทศบางคำเข้าในในภาษาไทยเป็นเวลานาน จนลืมว่ามาจากภาษาใด เช่น คำ บักเตรี มาจากภาษาฝรั่งเศสแพทย์ไทยใช้คำนี้ในตำรา และในการสื่อ ความหมายมานาน เช่นเดียวกับคำ วิตามิน โปรตีน จนติดอยู่ในภาษาไทย หากจะเปลี่ยนเป็นเสียงภาษาอังกฤษก็อาจใช้ว่า แบ็กทีเรีย ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้ว แต่ไวตามิน โปรตีน ยังไม่เป็นที่นิยม จะเห็นว่า วิชาการทุกสาขาจะมีศัพท์เฉพาะด้านเพื่อสื่อสารในวงการวิชาการ คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ และมักเห็นเป็นความยุ่งยากไม่จำเป็น ศัพท์วิชาการคำเดียวกันก็ควรจะมีในภาษาไทยเพียงคำเดียว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เช่น concept นักวิชาการบางสถาบันเรียกว่า มะโนทัศน์ ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า มโนมติ หรือ fax การสื่อสารแห่งประเทศไทยใช้ว่า โทรสาร ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า โทรภาพ ฯลฯ
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษา ซึ่งควรจะอนุรักษ์ไว้เพราะเป็นสิ่งที่ดีและควรพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะลักษณะที่แตกต่างกัน และมีการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้าง เร็วบ้าง ช้าบ้าง เช่น ราชาศัพท์ และภาษาราชการเปลี่ยนแปลงช้า และภาษาในชีวิติประจำวันในวงการธุรกิจและวงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกลับเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะได้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมากมายและรวดเร็ว จำเป็นต้องหาถ้อยคำมาอธิบายชี้แจง และเรียกสิ่งใหม่นั้นให้ทันท่วงที
๔.๒ การอนุรักษ์สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
การอนุรักษ์สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไทย หมายถึง การปกป้องรักษา ดูแลเอาใจใส่สิ่งที่สังคมไทยมีอยู่แล้วให้เป็นลักษณะเด่นของตนเองที่ทำให้เชิดหน้าชูตาที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนที่แสดงถึงความเป็นชาติไทยได้ชัดเจน ตลอดถึงการทนุบำรุงซ่อมแซมสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์นั้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน ผู้สนใจทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ
ปัจจุบันเอกลักษณ์ของไทยเป็นที่ชื่นชมของทั่วโลกคือการยิ้ม จนได้สมญานามว่า “สยามเมืองยิ้ม” นั่นก็เป็นเพราะสังคมไทย เป็นสังคมแห่งพระพุทธศาสนา เป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร เป็นสังคมแห่งการสร้างสันติสุข คุณธรรมพื้นฐานที่สังคมไทยให้ทุกคนได้ปฏิบัติร่วมกันคือเบญจศีล หรือ ศีล ๕ เป็นวัฒนธรรมด้านจิตใจ ได้แก่
๑) ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ. การเว้นจากการฆ่าหรือทำลายสัตว์ที่มีชีวิต เว้นจาการเบียดเบียนกันและกัน เว้นจากการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วยการกระทำที่เนื่องด้วยกาย ต้องการให้คนมีเมตตาต่อกันและกัน
๒) อทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ. การเว้นจากลักขโมย หรือหยิบฉวยเอาของบุคคลอื่น ตั้งแต่ ๕ มาสก (๑ บาท) ขึ้นไป ซึ่งนิสัยที่ไม่ดี ต้องการให้คนความซื่อสัตย์ สุจริตในการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต
๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี สิแขาปะทัง สมาทิยามิ. การเว้นจากการประพฤติล่วงละเมิดในคู่ครองคนอื่น หรือคนที่มิใช้คู่ครองของตนเอง ทั้งชายและหญิง ต้องการให้คนมีคุณธรรมสำรวมในกามคุณ ๕ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับกิเลสตัณหา
๔) มุสาวาทา เวระมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ. การเว้นจากการพูดโกหกมดเท็จ พูดคำหยาบ พูดสอเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระแก่นสาร ต้องการให้คนเป็นมีสัจจะ ความจริงใจให้กัน
๕) สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ. การเว้นจากการดื่มสุรายาเมา สิ่งเสพย์ติดทั้งปวง ต้องการให้คนเป็นคนมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวเสมอ ไม่เผลอเลอ
เอกลักษณ์นี้เป็นเพียงตัวอย่างตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นเอกลักษณ์พื้นฐานในสังคมไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แม้จะมิได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะนั้นคือหลักของประเทศที่ดีที่พระมหากษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังการด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม การแต่งกาย การแสดงความเคารพ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต้องช่วยกัน ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกไทยต่อไป
๔.๓ ความสำคัญของเอกลักษณ์ไทย
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า เอกลักษณ์ไทยมีความสำคัญต่อชาติไทยไม่มากมายหลายประการ แต่พอสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
๑) เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติมิให้ใครเหยียดหยาม เช่น ธงชาติไทย
๒) เป็นสิ่งที่แสดงออกซึ่งความเป็นไทยอย่างเด่นชัด ที่เรียกว่าเชิดหน้าชูตา เช่น มารยาทอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส มวยไทย ลิเก เพลงพื้นบ้าน ฯลฯ
๓) สร้างสรรค์ความสมานสามัคคีคนในชาติ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์
๔) ทำให้ชาติมีลักษณะเฉพาะที่ไม่มีใครเหมือน
๕) ทำให้ชาติโดดเด่นในด้านความเป็นเอกราช ประกาศความเป็น “ไท” ได้อย่างภาคภูมิ
๔.๔ ประเภทของเอกลักษณ์ไทย
เอกลักษณ์ไทย คือ สิ่งที่บ่งบอกความเป็นชาติไทยได้อย่างชัดเจน ดังกล่าวแล้ว และเป็นวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งสำหรับคนไทยทุกคน จะมีอยู่ทุกภาคของประเทศ มีมากมายหลายประการ แต่เมื่อรวบรวมเป็นหมวดหมู่แล้ว พอสรุปได้ประมาณ ๖ ประการ ได้แก่
๑) ภาษาไทย คือ ภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ถึงแม้จะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการใช้ศัพท์กับบุคคลในระดับต่าง ๆ และอักษรไทยที่ใช้ในภาษาเขียนโดยทั่วไป ภาษาไทยจึงเป็นเอกลักษณ์ของชาติ มีถ้องคำที่สละสลวย
๒) การแต่งกาย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการแต่งกายของชาวไทยจะเป็นสากลมากขึ้น แต่ก็ยังคงเครื่องแต่งกาย ของไทยไว้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น ในงานพระราชพิธี งานที่เป็นพิธีการ หรือในโอกาสพบปะ สังสรรค์ระหว่างผู้นำ พิธีแต่งงาน เทศกาลและงานประเพณีที่จัดขึ้น หรือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน ในบางหน่วยงานของราชการ มีการรณรงค์ให้แต่งกายในรูป แบบไทย ๆ ด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น วันอังคาร ชาวเชียงรายแต่งชุดสีม่วงซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดเชียงราย วันจันทร์ข้าราชการแต่งชุดสีกากี เป็นต้น ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกประการหนึ่ง
๓) การแสดงความเคารพด้วยการไหว้และกราบ ซึ่งแบ่งแยกออกได้อย่างชัดเจน เช่น กราบพระพุทธรูป กราบพระสงฆ์ กราบไหว้บุคคลในฐานะ หรือวัยต่าง ๆ ตลอดจนการวางตนด้วยความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมไปถึงความเกรงใจ เอกลักษณ์เหล่านี้สืบเนื่องมาจากคำสอนในพระพุทธศาสนาคอยอบรมบ่มนิสัยคนไทยจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคนไทยจนถึงปัจจุบัน
๔) สถาปัตยกรรม ประติมากรรม เห็นได้จากชิ้นงานที่ปรากฏในศาสนสถาน โบสถ์ วิหาร ปราสาทราชวัง และอาคารบ้านทรงไทย พระพุทธรูปเชียงแสน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ
๕) ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ประเทศไทยมีการติดต่อกับหลายเชื้อชาติ ทำให้มีการรับวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ เข้ามา แต่คนไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็น ส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของไทย เช่น ประเพณีทานก๋วยสลาก ประเพณีล่องเรือไฟ ประเพณีแข่งเรือ ฯลฯ
๖) ดนตรีไทย กีฬาไทย และการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ไทยมีสะล้อ ซอ ซึง ปี่ พิณพาทย์ ระนาด ฆ้องวง เป็นเครื่องดนตรีไทย และกีฬาไทยที่ขึ้นชื่อคือมวยไทย และการละเล่นพื้นบ้านพื้นเมืองอีกมากมาย เช่น ลิเก โขน ลำตัด หมอลำ ซอ กลองยาว ฯลฯ นับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ไทยคงเป็นไทยอยู่ทุกวันนี้ที่ชาวต่งชาติเข้ามาท่องเที่ยวและเยี่ยมชม
สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ถึงแม้ว่าจะมีบางอย่างที่มองไม่เห็นเด่นชัด หรือเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องคงอยู่ในใจของคนไทยตลอดไป ก็คือ ศักดิ์ศรีของคนไทย
๔.๕ ปัจจัยสำคัญในการรักษาเอกลักษณ์และการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทย จึงเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยที่มีค่ามาก เป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ไว้ แต่การอนุรักษ์เอกลักษณ์เหล่านี้ได้ผลนั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ “คนไทย” เมื่อใดคนไทยรู้จักรักษาและหวงแหน คอยสอดส่องดูแล ปกป้องมิให้ใครเหยียดหยามและทำลาย เมื่อนั้นเอกลักษณ์ไทยจะมีอายุยืนยาวสืบนานไป แต่ถ้าเมื่อใดคนไทยไม่ช่วยกันดูแลรักษา ไม่เอาใจใส่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม มิใช่ของเราคนเดียวของคนทั้งชาติ ถ้าเป็นเช่นนี้เอกลักษณ์ไทยก็จะสูญหายไปในที่สุด ดังนั้น จำเป็นต้องปลูกฝังความรัก ความห่วงใย และสร้างความตระหนักให้คนไทยทุกคนรู้จักคุณค่า รู้จักมรดกไทย รู้จักหวงแหน และมีความสำนึกในความเป็นไทย เพื่อจะได้เป็นผู้คอยปกป้อง ดูแล หวงแหน และเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้รับทราบถึงเอกลักษณ์อันเป็นวัฒนธรรมไทย
--------------------------------------------------------
คำถามประจำบท
ให้นิสิตอธิบายถึงวิธีการในการรักษา ส่งเสริม และพัฒนาวัฒนธรรมตามทัศนะของท่านมาดู ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น