วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จับตาเทรนด์หนัง “โลกแตก

จับตาเทรนด์หนัง โลกแตก

ว่าด้วยเรื่อง "โลกแตก"
สัจธรรมข้อหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่าง มี "เกิด" และ "ดับ" เป็นของธรรมดา

จึงไม่น่าแปลกใจว่า แม้แต่โลกกลมๆ อายุ 4.6 พันล้านปีที่เรายืนอยู่นี่ ก็มีหลายคนตั้งคำถามทั้งทีเล่นทีจริงและจริงจังว่า โลกจะแตกเมื่อใด ?

เรื่อง "โลกแตก" เรื่องความหายนะของโลกนั้นมีเรื่องเล่ามาตั้งแต่โบราณกาลที่ดังๆ ก็อย่างเช่น เรือโนอาห์กับน้ำท่วมโลกในคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงวันสิ้นโลกหรือวันพิพากษาไว้ในบทวิวรณ์ด้วย มหากาพย์กิลกาเมชได้เล่าตำนานน้ำท่วมโลกที่เก่าแก่ของอาณาจักรโบราณเมโสโปเตเมีย หรือตำนานมหานครแอตแลนติส มหานครที่สาบสูญที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของเพลโต (427-347 ปีก่อน ค.ศ.)

มาถึงโลกในยุคปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง เราฮือฮากับการทำนายของนักทำนายชื่อดังอย่าง นอสตราดามุสว่าโลกจะเกิดหายนะครั้งใหญ่ในปี 1999 หลังจากนั้นก็มีฟอร์เวิร์ดเมล์ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ทำนายว่า โลกจะถึงคราวอวสาน ในวันที่ 21ธ.ค. 2012 จะเกิดน้ำท่วมโลกเฉียบพลัน

ทางฟากโหรไทยไม่น้อยหน้า ทุกๆ ปลายปี จะมีคำทำนายว่าโลกอาจจะแปรปรวนอย่างนั้นอย่างนี้ จะเกิดสึนามิ สงคราม แผ่นดินไหว โรคระบาด อะไรเทือกนั้น อย่างที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ก็คือมีคนทำนายว่า เมืองไทยจะหิมะตกยังไงล่ะ

นี่คือ ทางฟากของคำทำนาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟัง แต่หากเป็นในเชิงทางวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องภาวะโลกร้อน, ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

สิ่งที่นำเสนอไปนี้ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความประหวั่นพรั่นพรึง เพราะหากเรามีสติ ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเป็นเช่นไร หากเราเข้าใจ เราจะรับมือกับมันได้

แต่มุมหนึ่งที่น่ามองก็คือ การตลาดในวงการภาพยนตร์ ที่เกาะติดกระแส ส่ง "หนังโลกแตก" ออกมาให้คนดูตื่นตาตื่นใจ

หนังเหล่านี้มีหน้าตาเป็นเช่นไรบ้าง ต้องติดตามอ่านดู



โลกจะแตก (1) ? จากยุค "50-"90

...สงครามปรมาณูถึงนอสตราดามุส




ภาวะในสังคมในแต่ละช่วงเวลา ย่อมส่งผลกระทบต่อรูปแบบความคิด จิตใจ ของคนในยุคนั้นๆ ไม่เว้นแม้แต่การสร้างภาพยนตร์


หากมองผ่านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกัน ยุค "หนังโลกแตก" ในช่วงแรกนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าโลกจะกลับสู่ภาวะที่มีสันติภาพ แต่อานุภาพของระเบิดปรมาณู ทำให้คนทั่วไปเริ่มหวาดหวั่นพิษสงของเจ้าระเบิดมหากาฬ หวั่นเกรงว่าในอนาคตอาจจะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกได้ ชักพาให้โลกในช่วงนั้นมีความตึงเครียด ที่เรียกว่ายุคสงครามเย็น ระหว่างโลกเสรีโดยการนำของอเมริกาและโลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตเป็นผู้นำ ดังนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 50 (1950-1951) จึงมีหนังวิทยาศาสตร์จำนวนมากหยิบเอาประเด็นนี้มาทำเป็นหนัง อย่างเช่น Destination Moon (1950) เล่าเรื่องการค้นหาที่อยู่ใหม่บนดวงจันทร์ หรือ When the World Colide (1951) พูดถึงจุดจบของโลกโดยตรง


ส่วนเรื่องที่คลาสสิกและเป็นประเด็นครึกโครมในยุคนั้น ก็คือหนังเรื่อง The War of the Worlds (1953) ผลงานของ เอช.จี.เวลส์. ว่าด้วยมนุษย์ต่างดาวบุกโลก ต่อมาพ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูด สตีเฟน สปิลเบิร์ก ได้นำมารีเมกอีกครั้งในปี 2005


อีกงานหนึ่งก็คือ The Day The Earth Stood Still (1951) ของโรเบิร์ต ไวส์ เล่าถึงมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลก เพื่อมาเตือนชาวโลกให้ยุติการพัฒนาอาวุธร้าย ในปี 2008 หนังเรื่องนี้ได้ถูกรีเมกเช่นกัน โดยมี คีนู รีฟมาเป็นดารานำ


เชื่อหรือไม่ว่า ? ในยุคนั้น เหตุผลหนึ่งที่มีการทำหนังเกี่ยวกับสงครามปรมาณูมากมาย นั่นเป็นเพราะว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนงานสร้างลดน้อยลง อย่างฉากระเบิดปรมาณูสามารถหยิบจากเหตุการณ์จริงมาประกอบได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่น The Beginning or the End (1946), Five (1951), The Twenty-Seventh Day (1957) และ On the Beach (1959) ล้วนแล้วแต่ใช้ภาพระเบิดลูกเดียวกันประกอบฉาก


อย่างไรก็ตาม หนังทำลายล้างเหล่านี้ เริ่มเสื่อมความนิยมลง พร้อมกันนั้นความตึงเครียดของสงครามเย็นเริ่มจะถึงขีดสุด อย่างวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ในตอนนั้น อเมริกาค้นพบว่ามีฐานขีปนาวุธกำลังถูกสร้างขึ้นในคิวบาซึ่งกำลังจ่อคอหอยอเมริกาอยู่ ทำให้เกิดหนังดังในยุคนั้น อย่าง Dr. Strangelove, or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964) งานกำกับของสแตนลีย์ คูบริก เล่าถึงผู้นำของอเมริกาป่วยทางจิตแล้วเกิดกดปุ่มยิงระเบิดปรมาณูไปยังโซเวียต


พอถึงยุค 70 สภาพสังคมที่ตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายลง ในช่วงนั้นเกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้งบประมาณในการสร้างหนังเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิม ทำให้เกิดสูตรหนังสูตรหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ หนัง Disaster Films ซึ่งเป็นหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำลายล้างอย่างวินาศสันตะโร อย่างเช่น The Poseidon Adventure (1972)ที่เป็นเรื่องเรือเดินสมุทรพลิกคว่ำเนื่องมาจากคลื่นยักษ์กลางทะเลทำเงินได้สูงถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ในยุคนั้นถือว่ามากทีเดียว ทำให้ต่อมามีหนังสูตรนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างเช่น Gold (1974) เหตุการณ์เขื่อนพัง, Earthquake (1974) เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหว

แต่สุดท้าย ด้วยความที่เป็นหนังสูตรสำเร็จ ทำให้คนดูคุ้นชิน เดาทางง่าย ชักดูไม่ค่อยสนุก หนังแนวนี้จึงเสื่อมความนิยมไป แต่ก็มีการสร้างอยู่เป็นระยะๆ อย่างเช่น Poseidon (2006) ที่นำ The Poseidon Adventure (1972) กลับมาสร้างใหม่


(ข้อมูลนี้ ส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ "หนังอเมริกัน : ประวัติศาสตร์และงานคลาสสิก" รวมงานเขียนของ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน และคนอื่นๆ สนพ.สตาร์พิกส์)


พอมาถึงยุคทศวรรษที่ 90 การล่มสลายของสหภาพโซเวียต 1991 จะทำให้สภาวะสงครามเย็นสิ้นสุดลง แต่ทั่วโลกก็ได้รู้จักกับซัดดัม ในสงครามอ่าวเปอร์เชียในปี 1991 ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดหลายเหตุการณ์ นักตีความมองว่า ช่างพ้องกับคำทำนายของ นอสตราดามุส อย่างเช่น กรณีที่จะมีปิศาจร้ายนามว่าMabus จะมาทำลายโลก (เมื่อลองเอาคำนี้มาส่องกระจก จะอ่านเป็น "ซัดดัม") ทำให้เขาถูกปลุกปั้นจากสหรัฐอเมริกาว่าเขาเป็นเหมือนดัง "ปิศาจ"


ความแตกตื่นตรงนี้ทำให้ทั่วโลกจับตาว่าปี 1999 จะมีหายนะมาเยือนโลกตามคำทำนายของนอสตราดามุสจริงหรือไม่ ?


จึงมีทั้งหนังฟอร์มใหญ่พวกภูเขาไฟระเบิด อุกาบาตพุ่งชนโลก เกิดขึ้นเพียบ...


อย่าง Volcano (1997) ใครอยากดูระเบิดภูเขาไฟลอสแองเจลิสก็ต้องชมเรื่องนี้ ส่วนภูเขาไฟระเบิดที่ตามกันมาอีกเรื่องก็คือ Dante"s Peak (1997)


แต่หากเปลี่ยนมาใช้ดาวหางทำลายโลก ต้องไม่พลาด Deep Impact (1998) และ Armageddon (1998) หนังเรื่องหลังนี้แม้จะไม่เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ แต่ถือว่าดังระเบิดในเมืองไทย เพราะฉากดราม่าของบรูซ วิลลิส ตัวเอกของเรื่อง เรียกน้ำตาได้เป็นอย่างดี แถมยังดันให้เพลง I Don"t Want to Miss a Thing ของแอโร่ สมิธโด่งดังเป็นพลุแตก



โลกจะแตก (2) ? ยุค 2000...

โลกหลังเหตุการณ์ 911, โลกหายนะ และโลกร้อน


โลกหลังเหตุการณ์ 911...ในที่สุด โลกก็ผ่านปี 1999 มาอย่างไม่ยากเย็นนักและก้าวสู่ปี 2000 โดยไม่มีปัญหาวายทูเคมารบกวนระบบสารสนเทศของโลก


แต่เพียงผ่านมาได้หนึ่งปี ในวันที่ 11 กันยายน 2001 ตึกเวิรลด์เทรด...ตึกหอคอยคู่สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจโลกทุนนิยม ถล่มลงมาท่ามกลางความตื่นตะลึงของชาวนิวยอร์กและทั่วโลก ก่อนจะถูกพิสูจน์ว่า นี่คือ การก่อวินาศกรรมครั้งยิ่งใหญ่


จากเหตุการณ์ 9/11 นี้ ทำให้แนวทางการทำหนังของผู้กำกับดังหลายคนเปลี่ยนไปพอสมควร สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก ผู้กำกับหนังชาวยิว ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า "เหตุการณ์ 9/11 เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในประเทศ ตั้งแต่สงครามกลางเมือง (ปี 1861-1865) เป็นต้นมา หลังจากวันนั้น หนังจำนวนมากที่เราสร้างขึ้นล้วนแล้วแต่สะท้อนความหวาดกลัวที่เรามีต่อเหตุการณ์นี้โดยไม่รู้ตัว" (จากนิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2548)


ความคิดเช่นนี้ ทำให้สปีลเบิร์กมองผู้ที่เข้ามาสู่อเมริกาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป โดยในยุคก่อนหน้านี้เขามองมนุษย์ต่างดาวด้วยสายตาเป็นมิตรผ่านภาพยนตร์เรื่อง Close Encounter of the Third Kind (1977) และ E.T. : The Extra-Terrestrial (1982)


แต่พอมาถึงปี 2005 เขาได้นำ The War of the Worlds มาสร้างใหม่ในมุมมองที่มนุษย์ต่างดาวไม่เป็นมิตรกับมนุษย์โลก (ซึ่งคงจะหมายถึง อเมริกา) อีกต่อไป


คงต้องรอดูว่า หลังจากอเมริกาได้ประธานาธิบดีแห่งความหวังที่จะประสานสันติสิบทิศทั่วโลกนามบารัก โอบามา แล้ว ท่าทีของหนังอเมริกาจะมีหน้าตาเช่นใด



โลกหายนะ...ใน 3-4 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อากาศทั่วโลกแปรปรวน มีภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งเหตุการณ์สึนามิที่เริ่มต้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย (2004) พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (2005) แผ่นดินไหวที่จีน (2008) พายุไซโคลนนาร์กีสที่พม่า (2008) จนมาถึงปีนี้ก็มีเรื่องราวของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มาพ่วงด้วย


กระแสตลาดหนังในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งจึงหันไปเล่นกับประเด็นเรื่องหายนะ เพื่อเร้าอารมณ์คนดู อย่างเช่น The Day After Tomorrow (2004) ที่ตั้งคำถามกับเราว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากโลกใบนี้กลับสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง, Cloverfield (2008) เมื่อสัตว์ประหลาดที่จะนำภัยวิบัติภัยครั้งใหญ่มาถล่มมหานครนิวยอร์ก(เมืองนี้โดนถล่มบ่อยมาก !), The Day the Earth Stood Still (2008) หนังรีเมกที่นำมนุษย์ต่างดาวมาช่วยเตือนภัยให้กับมนุษย์อีกครั้ง


พอมาถึงปี 2009 เรื่องราวเกี่ยวกับโลกหายนะก็เข้ามาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อย่างเช่น Knowing (2009) มีการพยากรณ์วันล้างโลกโดยดวงอาทิตย์เอาไว้, Watch Men (2009) หนังซูเปอร์ฮีโร่แนวใหม่ ต้องผจญกับปัญหาความตึงเครียดของโลกในยุคสงครามเย็นในปี 1985, Terminator Salvation (2009) บอกเล่าเรื่องราวของโลกในยุค 2018 ที่โลกถึงยุคอวสานเพราะถูกหุ่นยนต์มายึดครอง และในปลายปีนี้เองจะมีหนังฟอร์มใหญ่เรื่อง 2012 ที่อิงเรื่องราวมาจากการทำนายวันสิ้นโลกที่เล่าถึงกันมากที่สุดในขณะนี้ของชนเผ่ามายา ซึ่งแค่ดูเทรลเลอร์หนังก็น่าขนลุกแล้ว เพราะน้ำกำลังจะท่วมทิเบต !


แต่ใช่ว่าบ้านอื่นเมืองอื่นจะทำหนังไม่เป็น อย่างในประเทศญี่ปุ่น ก็มีหนังอย่าง20th Century Boy (2008-2009) พูดถึงโลกที่ถูกทำลายจากเชื้อไวรัสเพราะแผนการทำลายโรคในอดีตของเด็กน้อยกลุ่มหนึ่ง หรือที่เข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้ก็คือ Pandemic (2009) ที่จำลองเหตุการณ์ว่า ถ้าเกาะญี่ปุ่นถูกคุกคามด้วยไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ส่งผลให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?


ส่วนในบ้านเรา ก็มีหนังฝีมือของทรนง ศรีเชื้อ อย่าง "2022 สึนามิ วันโลกสังหาร" เมื่อคลื่นยักษ์สึนามิกลับมาถล่มเมืองไทยอีกครั้ง แต่คราวนี้มาจากอ่าวไทยและกำลังจะถล่มกรุงเทพฯ !



โลกร้อน...เมื่อเรามองโลกประดิษฐ์ในแผ่นฟิล์มแล้ว คราวนี้กลับมามองโลกความเป็นจริงผ่านหนังสารคดีกันบ้าง แม้ว่าจะไม่ใช่ "หนังโลกแตก" แต่ก็เป็นหนังที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของโลกใบนี้


เมื่อ 3 ปีที่แล้ว อัล กอร์ อดีตผู้ช้ำรักจากเวทีประธานาธิบดีอเมริกา แต่ต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2007 เพราะออกมาปลุกกระแสภาวะโลกร้อนผ่านหนังสารคดีที่ชื่อ An Inconvenient Truth (2006) ถ้าหากได้เห็นภาพเทือกเขาคิริมันจาโรจากเดิมที่เคยมีหิมะปกคลุมยอดเขา แต่พอมาถึงปัจจุบันด้วยภาวะโลกร้อนกลับทำให้เทือกเขานี้ไม่มีหิมะปกคลุมหนาตาอีกแล้ว คงทำให้เราใส่ใจกับธรรมชาติมากขึ้น


กระแสนี้ค่อยแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้แนวร่วมที่แข็งขันมากมาย ดาราดังอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มาช่วยโปรโมตหนังรักษ์โลกอีกเรื่อง นั่นคือ The 11th Hour (2007) ซึ่งดำเนินคล้ายกันกับ An Inconvenient Truth แต่เน้นในเรื่องข้อมูลเชิงลึกรวมถึงบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ



หนังรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องล่าสุดคือเรื่อง Home (2009) หนังสารคดีฝีมือของ Yann Arthus-Bertrand ที่เดินทางทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพในมุมมองต่างๆ ของโลก อันเป็น "บ้านของเรา" ว่าในแต่ละส่วน ถูกกิจกรรมของมนุษย์ทำลายขนาดไหน ไล่ตั้งแต่การสร้างเมืองที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปจนถึงการทำปศุสัตว์ที่อเมริกา แต่ท้ายที่สุด หนังยังให้แสงสว่างและทางออกแก่มนุษย์ว่า นอกจากกิจกรรมทำร้ายโลกแล้ว ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์โลกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากที่ไม่ใช่แค่หิ้วถุงผ้าเท่ไปวันๆ อย่างเช่น ธนาคารคนจนในบังกลาเทศ การใช้พลังงานทางเลือกอย่าง ลม แสงอาทิตย์ในที่ต่างๆ รวมไปถึงการปลูกจิตทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนังเรื่องนี้เขาต่อยอดกิจกรรมนอกจอที่เว็บไซต์www.goodplanet.org ให้เรามีส่วนร่วมในการดูแล "บ้านของเรา" ด้วยกัน
.
Life Insurance Knowledge:Life Insurance , private, death, employee pensions and annuities,life insurance, educational, life insurance companies

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Search for content in this blog.