วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อาการไอ รู้สาเหตุก็รักษาให้หายได้

อาการไอ รู้สาเหตุก็รักษาให้หายได้


อาการไอ รู้สาเหตุก็รักษาให้หายได้ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


“โอย ไอแค้กๆ” ทีไรเหนื่อยจริงๆ คุณคงเคยบ่นกับตัวเองใช่ไหมว่ารู้สึกรำคาญมากทุกครั้งที่มีอาการไอใช่ไหมครับ แต่ถ้าคุณได้ทราบว่าการไอเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ มีความสำคัญอย่างมากเพื่อไว้เป็นกลไกป้องกันและกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ อ่านบทความนี้จบคุณคงชอบใจที่มีอาการไอทุกๆครั้งแน่ๆครับ

ทำไมเราจึงมีอาการไอ

กลไกการเกิดอาการไอเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอหรือมีสารระคายเคืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เริ่มตั้งแต่ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส โพรงหลังจมูก คอหอย ลงไปยัง กล่องเสียง หลอดลม ปอด กระบังลม และเยื่อหุ้มปอดในที่สุด นอกจากนี้ยังพบตัวรับสัญญาณการไอบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจและกระเพาะอาหารอีกด้วย โดยจะรับการกระตุ้นผ่านไปทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เป็นหลักไปยังศูนย์ควบคุมการไอ (cough center) ในสมองบริเวณเมดุลลาซึ่งจะมีการควบคุมลงมายังกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล่องเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลอดลม ทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอ

อาการไอแบ่งได้กี่ชนิด

ถ้าแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ แบ่งได้

1.ไอฉับพลัน คือเริ่มมีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรืออยู่เฉยๆคุณเองหายใจสัมผัสกับสารระคายเคืองในอากาศในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส มลพิษทางอากาศ

2. ไอเรื้อรัง มีอาการไอนานมากกว่า 3 ถึง 8 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด โรคกรดไหลย้อน (GERD) การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ โรควัณโรคปอด รวมทั้งผลข้างเคียงจากการรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACE-I)

ไอนานๆจะมีผลเสียมากกว่า

การที่ไอมากๆ อาจทำให้เสียบุคลิกภาพในการอยู่ร่วมในสังคม เนื่องจากทำให้เป็นที่รำคาญหรือเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นและยังอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ บางครั้งก็จะไปรบกวนการรับประทานอาหารรวมทั้งการนอนหลับ ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุมากแล้วมีการไอมากๆรุนแรง อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ รวมทั้งทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก ออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด เกิดอาการหอบเหนื่อยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากในคนไข้ที่มีการผ่าตัดตาและหู เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การไอ อาจทำให้เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ไปในลูกตาหลุดออกได้ หรือการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู การไอมากๆอาจทำให้เยื่อแก้วหูเทียมที่วางไว้เคลื่อนที่ออกมาได้

เมื่อมีอาการไอไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้ได้

เมื่อคุณไปพบแพทย์จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด

รู้ต้นเหตุก็รักษาอาการไอให้หายได้

การรักษาที่ดีที่สุดก็คือต้องหาสาเหตุของไอให้ได้และรักษาตามสาเหตุ

· ถ้าผู้ป่วยไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือล่าง เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มากนัก การรักษาเบื้องต้นจะให้ยาบรรเทาอาการไอไปก่อน
· กรณีที่ไอมีเสมหะที่เหนียวข้นมาก จะถูกขับออกจากหลอดลมได้ยากโดยการไอ การให้ยาละลายเสมหะจะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้น บรรเทาอาการไอได้ดีกว่า แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาและรักษาตามสาเหตุ
· หากคนไข้มีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งทราบได้โดยดูจากเสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ถึงเวลาที่แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย

การปฏิบัติตนขณะมีอาการไอให้หายเร็วขึ้น

· หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น มลพิษทางอากาศ สารก่ออาการระคายเคืองต่างๆ
· ระวังตัวเมื่อสัมผัสอากาศเย็นๆ โดยเฉพาะแอร์หรือพัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การรับประทานไอศกรีม หรืออาหารที่ระคายคอ เช่น อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถกระตุ้นหลอดลมทำให้หลอดลมหดตัวทำให้มีอาการไอมากขึ้นได้
· ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอขณะนอน เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้าหรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อเข้านอน
· ปิดปากและจมูกเวลาไอ ด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู
· ล้างมือทุกครั้งถ้าใช้มือป้องปากเวลาไอ
· ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่

การป้องกันอาการไอ

· ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท ทั้งผักและผลไม้ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ
· หลีกเลี่ยงความเครียดและการสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
· อยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบาย เนื่องจากอาจรับเชื้อโรคจากบุคคลที่ติดเชื้อได้

แหล่งข้อมูล

Melissa Conrad Stöppler, www.medicinenet.com, Cold, Flu, Allergy Treatments

พญ. ประภาพร พรสุริยะศักดิ์ สมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย, อาการไอ

Cough, www.medicinenet.com

รูปประกอบจากอินเตอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Search for content in this blog.